สกู๊ปพิเศษ - ลพ บุรีรัตน์ : ขุนพลเพลงสนุก โดนใจคนไทย
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 21 กรกฎาคม 2552 11:40 น.
ในบรรดาครูเพลงลูกทุ่ง คนไทยต้องคุ้นเคยกับผลงานเพลงเชิงเสียดสี, อุปมา -
อุปไมย และสนุกสนาน ที่ "ครูลพ บุรีรัตน์" เอาวรรณศิลป์ "บัง"
บางเรื่องราวไว้ เช่น 30 ยังแจ๋ว, เด็กมันยั่ว, มอเตอร์ไซค์ทำหล่น,
จำใจดู, คนอกหักพักบ้านนี้ ฯลฯ
อีกทั้งครูลพยังได้ชื่อว่า เป็นนักแต่งเพลงคู่บุญของนางพญาผึ้ง -
พุ่มพวง ดวงจันทร์ เพลงดังระดับตัวแม่ที่พุ่มพวงเคยขับร้องไว้จนโด่งดัง
เช่น สาวนาสั่งแฟน, อื้อฮือหล่อจัง, ห่างหน่อยถอยนิด, หนูไม่รู้,
หนูไม่เอา, ตั๊กแตนผูกโบว์, กระแซะเข้ามาซิ, ผู้ชายในฝัน, ดาวเรือง
ดาวโรย, นัดพบหน้าอำเภอ ฯลฯ
หลายครั้งที่เพลงโด่งดังเหล่านี้ถูกนำมาบันทึกเสียงใหม่ !!
ครูวิเชียร คำเจริญ (ลพ บุรีรัตน์) มีงานเพลงที่ประพันธ์ไว้ราว
3,000 เพลง และเพลงยอดนิยมของครู จำนวน 200 เพลง บริษัท จีเอ็มเอ็ม
แกรมมี่ฯ ถือครองลิขสิทธิ์ในการดูแลอยู่
ทั้งนี้ครูได้โอนลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม (เนื้อร้องและทำนอง)
ให้แก่แกรมมี่ฯ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545
ผลงานล่าสุดคือ "ดวงจันทร์กลางดวงใจ พุ่มพวง ดวงจันทร์"
ของแกรมมี่ โกลด์ที่นำนักร้องหญิงต่างค่ายหลายคนมาร่วมกันร้องเพลงของพุ่มพวง
ดวงจันทร์ที่เคยสร้างชื่อไว้ ในโครงการนี้
นอกจากจะใช้เพลงของครูลพทั้งหมดแล้ว
ยังได้เชิญครูลพมาร่วมงานส่วนควบคุมการผลิต ในขั้นตอนการขับร้องของศิลปิน
รวมทั้งให้รายละเอียดเกี่ยวกับตัวเพลงและเรื่องพุ่มพวง ดวงจันทร์
สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ และก่อนหน้านี้คือ งานเพลง "พุ่มพวงในดวงใจ 1-4"
โดยใหม่ เจริญปุระ และ "เพลงของแม่" โดย เพชร สรภพ ลีละเมฆินทร์
วันนี้ ... เรานัดหมายกับครูวิเชียร คำเจริญ ที่บ้านพัก
หมู่บ้านสี่ไชยทอง แจ้งวัฒนะ 24
พื้นเพของครูลพ เป็นคนบ้านบางมะยม อ. ท่าวุ้ง จังหวัด ลพบุรี
เมื่อจบการศึกษา ชั้นปีที่ 3 จากโรงเรียนการช่างลพบุรี แผนกช่างตัดผม
เริ่มต้นจากการประกอบอาชีพช่างตัดผม และฝึกชกมวย ด้วยนิสัยชอบฟังเพลง
และรักการร้องเพลง จึงเริ่มประกวดร้องเพลง แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
จนเมื่อปี 2502 วงดนตรี กรุงเทพแมมโบ ของบังเละ
วงษ์อาบูมาไปเปิดการแสดงที่ลพบุรี จึงได้เข้าไปติดต่อขอสมัครเป็นนักร้อง
และมีโอกาสเดินทางเข้ากรุงเทพฯในครั้งนั้น แต่เนื่องจากครูลพ
บุรีรัตน์เสียงไม่ดีเมื่อเทียบกับคนอื่นในวง
จึงไม่ได้ร้องเพลงอย่างที่ตั้งใจไว้ อยู่กรุงเทพฯ
เพียงปีเดียวก็ตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่จังหวัดลพบุรี
แม้จะไม่ได้เป็นนักร้อง แต่เมื่อเห็นเพื่อนคนหนึ่งแต่งเพลง
จึงได้คิดแต่งบ้าง เพลง "กอดหมอนนอนเพ้อ" เป็นงานเพลงแรกของวิเชียร
คำเจริญ ต่อมาเพลงนี้ ทูล ทองใจ นำไปขับร้อง
"อาณาจักรใจมอบไว้ให้คุณ ตราบโลกหยุดหมุน ผมยังรักคุณมั่นคง
ตราบฟ้าสูญสิ้น พื้นดินสลายดับลง แต่รักฉันมั่นคง ดับลงพร้อมกับชีวา"
อีกเพลงหนึ่งที่ทูล ทองใจ ได้ขับร้องไว้คือ "เรือนหอสีฟ้า"
พลังของเด็กหนุ่มในครั้งนั้น อยู่ลพบุรีได้ไม่นาน ปี 2505
ก็กลับเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง
ครูลพตระเวนสมัครเป็นนักร้องกับวงดนตรีชื่อดังในยุคนั้น เช่น
วงมุกดาพันธ์(ครูพยงค์ มุกดา) , วงสมบัติเจริญ (สุรพล สมบัติเจริญ)
และวงดุริยางค์ทุ่งมหาเมฆก็ไม่มีใครอ้าแขนรับ สุดท้ายวิเชียร
คำเจริญตัดสินใจเบนเข็มจากนักร้องเป็นนักแต่งเพลง
โดยไปสมัครเป็นลูกศิษย์ของครูไพบูลย์ บุตรขัน ในปี 2505
"ผมเดินเข้าไปสมัคร ท่านก็รับไว้เลย ท่านบอกว่า
ทำไมไม่สมัครร้องเพลงก่อน ผมก็บอกว่า ไปสมัครหลายที่ครับ แต่ไม่มีคนรับผม
ท่านก็ถามว่า มีเพลงที่แต่งไว้มั้ย ผมก็ร้องให้ฟัง ครูไพบูลย์ท่านบอกว่า
เพลงค่อยๆ คิดทำไป เจออะไรก็อ่านมัน คนไหนพูดอะไรก็ฟังไป
ดูโทรทัศน์ก็ให้จำ เจอคำไหนดีๆ ต้องรีบจด"
"แต่ท่านบอกว่าอย่าเอาครูเป็นตัวอย่าง
แต่ท่านแนะให้ไปอ่านหนังสือกลอนสุนทรภู่ ให้แต่งกลอนแบบนั้น
สัมผัสแบบนั้น การแต่งเพลง เราเห็นอะไร
เห็นอยู่ตรงนั้นก็ต้องบอกว่าอยู่ตรงนั้น อาทิตย์ตกหลังเขา ตกตอนไหน
ตกน้ำเ ราก็ต้องบอกว่าตกน้ำ"
"จำได้ว่า ท่านเขียนข้อความใส่กระดาษแผ่นหนึ่งด้วยปากกาหมึกแดง
ซองไม่ได้ปิดผนึก เมื่อเราขึ้นรถเมล์ เราก็เปิดอ่าน - - มงคล (อมาตยกุล)
รับเด็กคนนี้ไว้ด้วย มีพรสวรรค์ในการแต่งเพลง เราได้อ่านก็ดีใจมาก
ตอนที่เข้าไปหาครูมงคล ท่านตัวใหญ่ เราก็กล้าๆ กลัวๆ แต่ท่านก็รับไว้
แล้วผมก็เริ่มทำงานกับวงจุฬารัตน์ ตั้งแต่บัดนั้น"
ครูลพ บุรีรัตน์ ใช้ชีวิตกับวงจุฬารัตน์อยู่ 11 ปี
ใช้ชื่อในการทำงานเพลงว่า "กนก เกตุกาญจน์"
เพลง-บ้านเรือนเคียงกัน
นักร้อง- จักรพรรณ์ อาบครบุรี
เพลงในแนวสนุกสนานของครูลพ บุรีรัตน์ ติดปากคนไทยมากที่สุด!!
งานเพลงในลักษณะนี้ ครูลพแต่งมานาน ตั้งแต่สมัยเข้ามาในวงการใหม่ๆ
ผลงานเพลงที่บันทึกแผ่นเสียงชุดแรกคือ บ้านใกล้เรือนเคียง (2508)
ขับร้องโดย ชาย เมืองสิงห์
" บ้านเรือนเคียงกันแอบมองทุกวันเลยเชียว เห็นหน้าหน่อยเดียว
หัวใจโน้มเหนี่ยวฝันหา หากมีวันใดที่นวลหายไปไกลตา โอ๊ยในอุรา
พี่มันเหมือนว่าถูกลนด้วยไฟ"
อีกเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับวิเชียร คำเจริญ คือ คุณหมอคะ
(2510) ขับร้องโดย เรณู เบ็ญจวรรณ
" คุณหมอคะ หนูมาให้หมอช่วยตรวจ จะบีบจะนวด เชิญหมอตรวจให้ถึงใจ
ตั้งแต่เจอหมอ เมื่อตอนหมอมารักษาพิษไข้ โรคนั้นมันหายขาดไป
มีโรคอะไรไม่รู้มาแทน"
ในยุคที่วงดนตรีจุฬารัตน์เริ่มซบเซา เพลงดังก่อนวงแตกคือ
โนห์ราหาย, แหม่มกะปิ, รักพี่สักหน่อย และ อย่าพูดดีกว่า
เมื่อวงจุฬารัตน์ยุบ ครูลพได้เป็นนักประพันธ์เพลงอิสระ
เริ่มทำผลงาน "จำใจดู, เอียงแก้มคอย" ให้แก่ยอดรัก สลักใจ และผ่องศรี
วรนุช เพลงอื่นๆ ในวงการเพลงลูกทุ่งที่เราคุ้นเคย เช่น เข้าเวรรอ,
มอเตอร์ไซค์ทำหล่น (ศรเพชร ศรสุพรรณ), คนอกหักพักบ้านนี้ ,
เกลียดห้องเบอร์ 5 (สายัณห์ สัญญา), 30 ยังแจ๋ว, ลิ้นมหาเสน่ห์,
แบ่งคนละครึ่ง, เด็กมันยั่ว (ยอดรัก สลักใจ) เป็นต้น
ชีวิตครูเพลงอิสระ เริ่มทำงานเขียนเพลงให้กับค่ายสบายดี
ของครูมนต์ เมืองเหนือ ต่อมา ครูลพ บุรีรัตน์
เป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงที่ร่วมงานกับค่ายอโซน่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว
ตอนนั้นค่ายอโซน่าตั้งใจปั้นจันทรา ธีรวรรณ เนื่องจากสวยกว่าพุ่มพวง
เพลงที่ครูลพแต่งจันทราให้คือ "สาวทรงฮาร์ด"
"โก๋พกหวี กี๋พกแป้ง เป็นสาวแก้มแดง ก็อยากจะแต่งทรงฮาร์ด"
ส่วนพุ่มพวง ดวงจันทร์ ในยุคอโซน่า เชิดศักดิ์ เปลี่ยนศรี
เขียนเพลง "แฟนพุ่มพวง" ให้เธออยู่ก่อนแล้ว
"พุ่มพวงตอนนั้นตัวดำๆ จมูก ไม่ได้โด่ง เสียงแบนๆ เล็กๆ
แต่พอไปเสริมจมูกมา เสียงมันว้าง
ตอนแรกทางบริษัทตั้งใจโปรโมตเพลงของจันทรา 70 ครั้ง พุ่มพวง 30
ครั้งต่อวัน แต่พอจันทราไม่เข้ามาทำมิวสิก ตามอยู่หลายครั้ง ผมตามบ้าง
ทางอโซน่าตามบ้าง จนสุดท้ายทางบริษัทตัดสินใจดันพุ่มพวง ดวงจันทร์
ปล่อยวันละ 200 คิว หยุดโปรโมตเพลงของจันทรา ธีรวรรณทั้งหมด" ครูลพ
บุรีรัตน์ กล่าว
วิเชียร คำเจริญเริ่มเขียนเพลงให้พุ่มพวง ดวงจันทร์
โดยเริ่มต้นจากผลงานในชุดต่างๆ ดังนี้
ดวงตาดวงใจ (2525) - ดาวเรือง ดาวโรย, ขุดดินแช่ง, ฉันรักขโมย,
อย่ามารักน้องเลย, ผู้ชายพายเรือ, สาวท่าเตียน
สาวนาสั่งแฟน (2526) - สาวนาสั่งแฟน, บทนางรอง, เจอแต่คนชอบหลอก
นัดพบหน้าอำเภอ (2526) - นัดพบหน้าอำเภอ, หนูล้อเล่น,
อนิจจาทิงเจอร์, เสน่ห์ - สนิท
ทิ้งนาลืมทุ่ง ( 2527) - นึกว่าแค่ไหน, เหมือนยายคู่ตา,
อุทิศหัวใจ, นึกถึงแม่แกบ้างไหม
คนดังลืมหลังควาย (2528) มาตอนฝัน
ครูเพลงท่านอื่นที่เข้ามาร่วมอัลบั้มทั้ง 5 ชุดนี้ เช่น
เนรัญชราฯ, จำนง เป็นสุข, สมหวัง ช่วงโชติ, เชิดศักดิ์ เปลี่ยนศรี,
ทิพย์ประภา, ชลธี ธารทอง, เกื้อ อุสาหะกานนท์, เสกสรร สอนอิ่มศาสตร์,
ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, ร้อยแก้ว รักไทย, สมโภชน์ ล้ำพงษ์, จงรักษ์ จันทร์คณา
เป็นต้น
ต่อมา วิเชียร คำเจริญกำหนดกติกาเพลงด้วยเงื่อนไขใหม่คือ 1.
เพลงแต่งให้ใครก็ต้องเป็นของคนนั้น ห้ามนำไปซอยแบ่งให้คนอื่น 2.
ขอเพิ่มค่าลิขสิทธิ์เพลงจาก 3,000 บาท เป็น 5,000 บาท ด้วยเงื่อนไขนี้
แรกเริ่มทางบริษัทฯ ไม่ตกลง ครูลพ บุรีรัตน์
จึงตัดสินใจไม่แต่งเพลงให้บริษัทอโซน่า และหันไปทำงานเพลงให้แอ๊ด เทวดา
ครูเพลงที่มารับช่วงต่อในการประพันธ์เพลงให้พุ่มพวง ดวงจันทร์คือ ฉลอง
ภู่สว่าง !! เพลงสร้างชื่อคือ คนดังลืมหลังควาย
"นึกไว้ทุกนาที ถ้าเขาไปได้ดีแล้วคงไม่มาขี่ควาย
เขานั้นคงแหนงหน่าย เบื่อนั่งหลังควาย เบื่อเคียวเกี่ยวหญ้า"
เพลงนี้ ... ดังมากในกรุงเทพฯ ด้วยแรงอัดโปรโมต จนพุ่มพวง
ดวงจันทร์คิดว่า "ดังแล้ว" จึงตัดสินใจเอาบ้านไปจำนองในราคา 7 แสนบาท
ไปเล่นคอนเสิร์ตที่จังหวัดระนอง ปรากฏว่า ฝนตกทุกวัน
และเพลงนี้ไม่แพร่หลายในต่างจังหวัด เมื่อกลับมากรุงเทพฯ พุ่มพวง
ดวงจันทร์ถึงกับถอดใจจะเลิกร้องเพลง
และคิดจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
บริษัทอโซน่าเพียรพยายามที่จะง้อครูลพให้กลับมาร่วมงานอีก
โดยการโทร.ไปหา แอ๊ด เทวดา เพื่อขอคุยกับครูลพ บุรีรัตน์
แต่ครูก็ยังใจแข็งอยู่ จนบริษัทอโซน่าโทรเลขไปที่บ้านเพื่อตามครูลพ
นั่นแหละจึงเป็นที่มาของการร่วมงานครั้งที่ 2 กับบริษัทอโซน่า
โดยทางบริษัทฯ แจ้งว่าจะให้ทุกข้อที่ครูรับได้ โดยไม่มีเงื่อนไข
"1. สัญญาต้องเป็นสัญญาของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยเท่านั้น , 2.
ค่าเพลงขยับราคาเป็น 5 พันบาท และ 3. ห้ามแบ่งเพลง ของใครของมัน
และห้ามมีเพลงของครูเพลงอื่นเข้ามาผสมในอัลบั้มเดียวกัน ผมมีกติกาแบบนี้
ทางบริษัทเกิดใจป้ำ บอกว่า จะแบ่งเปอร์เซ็นต์เทป ม้วนละ 1 บาทให้ด้วย"
อื้อฮือ ... หล่อจัง (2528) และ ห่างหน่อย - ถอยนิด (2529) คือ 2
อัลบั้มของพุ่มพวง ดวงจันทร์ในสังกัดอโซน่าที่เป็นเพลงประพันธ์ของวิเชียร
คำเจริญล้วนๆ
พุ่มพวง ดวงจันทร์ มีผลงานเพลงกับค่ายอโซน่าประมาณ 15 อัลบั้ม !!
และเมื่อพุ่มพวงโยกไปเป็นศิลปินกับค่ายอื่นๆ ครูลพ
บุรีรัตน์ก็ยังได้รับการทาบทามให้เขียนเพลงให้พุ่มพวง ดวงจันทร์อีก เช่น
ตั๊กแตนผูกโบว์ (ซีบีเอส), หนูไม่รู้, หนูไม่เอา, เงิ่นน่ะมีมั้ย
(มิวสิคไลน์) อีกค่ายหนึ่งที่มีผลงานเพลงมากเป็นพิเศษคือ ท็อปไลน์มิวสิค
เพลงเก่งสมัยอโซน่าถูกนำมาทำดนตรี เรียบเรียงเสียงประสาน และขับร้องใหม่
ทุกวันนี้งานเพลงสมัยท็อปไลน์ของพุ่มพวง
ดวงจันทร์ยังมีจำหน่ายทั้งในรูปของ CD เพลง, คาราโอเกะ ,และ MP3
ในท้องตลาดทั่วไป
...
พุ่มพวงเรียก "ครู"
พุ่มพวง ดวงจันทร์เป็นนักร้องคนแรกที่เรียกวิเชียร คำเจริญว่า
"ครู" ขณะที่นักร้องคนอื่นๆ ในวงการเพลงลูกทุ่งยุคนั้น เรียกลพ
บุรีรัตน์ว่า ลุง , น้า กันทั้งนั้น
"เนื่องจากผึ้งอ่านหนังสือไม่ออก จึงต้องอาศัยจากการฟังแล้วจำ
ผมจะร้องเพลงใส่เทป ส่งให้ผึ้ง ผึ้งเอาไปต่อเอง โดยการฟังระหว่างเดินทาง
เขาจะฟังซ้ำๆ จนเพลงมันช้ำ ผึ้งความจำดีมาก เก่งที่สุด ไม่มีใครสู้มันได้
เสียงอาจจะมี แต่รวมๆ ทั้งตัวของไอ้ผึ้ง ไม่มี"
แม้ว่า สวรรค์จะประทาน "ความจำ" มาทดแทน "ความรู้"
แต่การอาศัยหูฟังอย่างเดียวก็มีสิทธิ์พลาด มีบางเพลงที่พุ่มพวง ดวงจันทร์
ร้องผิดเนื้อ ผิดความหมาย เช่น
เพลงอนิจจาทิงเจอร์ - ที่ทำซึมๆ ขรึมเศร้า นั่นแล ธาตุจริงที่แท้
(ที่จริงธาตุแท้ - ถูก) นั้นแสบ เหลือหลาย .... ฉันเจอะมาแล้วนะเพื่อน
ทำช้าบิดเบือน (อิดเอื้อน - ถูก) ดูแล้วเหมือน ไก่ อ่อน
เพลงสยามเมืองยิ้ม - คนไทยรักชาติและศาสนา เทิดองค์เจ้าฟ้า
ผู้ทรงเปี่ยมเนื้อนาบุญ ถ้าท่านเคารพสิทธิ์ของไทย
ท่านอยู่ต่อได้อีกนานทุน (คุณ - ถูก) สยามใจบุญ ยังยิ้มเสมอ
ที่ร้องผิดพลาดนี้ เนื่องจากตารางนัดของครูกับพุ่มพวงไม่ตรงกัน
ครูจึงไม่มีโอกาสไปคุมที่ห้องบันทึกเสียง แต่เพลงร้องผิดพวกนี้ดังหมด
สไตล์เพลงของครูลพ บุรีรัตน์ ไม่เหมือนใคร !!
เนื่องจากครูใช้เทคนิคการประพันธ์บังเรื่องสองแง่เอาไว้ มิได้บอกตรงๆ
ซึ่งผู้ฟังต้องนำไปคิดเองตามภูมิหลังของตน แม้แต่พุ่มพวง
ดวงจันทร์ก็ยังบ่นอุบ
"ครูเอาเพลงอะไรมาให้หนูร้อง เป็นความตั้งใจของผมที่จะให้พุ่มพวง
ดวงจันทร์ฉีกจากรูปแบบเดิมๆของเพลงลูกทุ่ง
ผมไม่อยากทำอะไรที่มันเหมือนกับคนอื่นเขา อย่างเพลง กระแซะเข้ามาซิ
พุ่มพวงร้องแบบสวยมาเลย เราก็บอกว่าอารมณ์เพลงมันไม่ใช่แบบนี้นะ"
"เราบอกว่าเพลงนี้ไม่ต้องร้องสวย ถามไอ้ผึ้งมันว่า
เพลงนี้สนุกมั้ย เซ็กซี่มั้ย อย่าเครียด ร้องให้เป็นธรรมชาติ
เสียงไม่ต้องประดิษฐ์สวย เราก็แนะให้ผึ้งรู้จักส่วนของเพลง...เขยิบๆๆๆ
เข้ามาซิ ... เขยิบๆๆๆ เข้ามาซิ...เนื้อเดียวกัน
แต่ร้องให้สำเนียงต่างกัน ส่วนหน้ากับส่วนหลังไม่ต้องเหมือนกัน"
เฉพาะเพลงที่ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์
ซึ่งกลั่นกรองจากมันสมองของครูวิเชียร คำเจริญ (ลพ บุรีรัตน์) มีถึง 150
เพลงโดยประมาณ
...
เกียรติคุณและรางวัล
พ.ศ.2520
ได้รับพระราชทานรางวัลเสาอากาศทองคำจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ผลงานประพันธ์คำร้องยอดเยี่ยม เพลง ข้า ฯ คือไทย
ขับร้องโดยก้องเพชร แก่นนคร
พ.ศ.2522
ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ผลงานประพันธ์ คำร้องยอดเยี่ยม เพลงรางวัลนักรบ ขับร้องโดย ยอดรัก สลักใจ
พ.ศ.2525 ได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ พร้อมโล่เชิดชูเกียรติ
จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานฉลอง 200 ปี
กรุงรัตนโกสินทร์ ผลงานประพันธ์คำร้อง สร้างสรรค์สังคมเพลง
ทำดีสักทีเถอะน่า ขับร้องโดย ทรงกลด จันทร์เวช และเพ็ญจันทร์ พินิจค้า
นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลศิลปิน
ตัวอย่างสาขาประพันธ์เพลงลูกทุ่งอีก 1 รางวัล
พ.ศ.2532ได้รับพระราชทานรางวัลผู้ประพันธ์เพลงดีเด่นจากสมเด็จพระเทพรัตนราช
สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยครั้งที่ 1 รวม 2 เพลง
คือ เข้าเวรรอ ขับร้อง โดย ศรเพชร ศรสุพรรณ
และเพลงสาวนาสั่งแฟนขับร้องโดยพุ่มพวง ดวงจันทร์
พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานรางวัล ผู้ประพันธ์เพลงดีเด่น
จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี
ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2ผลงานเพลงสยามเมืองยิ้ม
ขับร้องโดยพุ่งพวง ดวงจันทร์
พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี โดยสมเด็จพระเทพฯ ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องเพลง พลบค่ำ
แล้วมอบให้ครูลพ บุรีรัตน์ ประพันธ์ทำนองเพลง
นับเป็นความภาคภูมิใจแก่เขาและครอบครัวเสมอมา
พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงดีเด่นถึง 3 เพลง
ในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทยสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วยเพลง
ทรงมหาเสน่ห์ ขับร้องโดยลัดดาวัลย์ ประวัติวงศ์ แบ่งกันคนละครึ่ง
ขับร้องโดย
ยอดรัก สลักใจ หลงมนต์คนเอฟเอ็ม ขับร้องโดยสิรินทรา นิยากร
พ.ศ.2539 ได้รับยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ในฐานะผู้ประพันธ์เพลงรณรงค์วัฒนธรรมไทย ด้วยผลงานเพลงถึง 3 เพลง คือ
เอกลักษณ์ไทย, ย่องเมืองเท่ เท่ และ พระเทพฯ ทรงบุญ
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9520000082220
No comments:
Post a Comment